ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือ ช่วยในการทำงาน การศึกษา การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ผ่านมาอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องมีพื้นฐานความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือพัฒนานวัตกรรม และใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ มีเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียนกล่าวคือเพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ มีทักษะในการค้นหาข้อมูลหรือสารสนเทศ ประเมิน จัดการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำสารสนเทศไปใช้ในการแก้ปัญหา สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ สื่อดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคม และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างปลอดภัย รู้เท่าทัน มีความรับผิดชอบมีจริยธรรม
จากสภาพปัญหาที่พบในการเรียนการสอนรายวิชาเทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจัตุรัสวิทยานุกูล ซึ่งผู้วิจัยได้มาจากการสังเกตในชั้นที่ผู้วิจัยทำการสอนพบว่านักเรียนมีความสนใจใฝ่รู้ในรายวิชาเทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ)ค่อนข้างน้อย มักจะเล่นอินเทอร์เน็ตหรือเล่นเกมในระหว่างการเรียนการสอนไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในห้องเรียนเท่าที่ควร ทำให้ได้รับความรู้ไม่เต็มที่ครูผู้สอนต้องทบทวนเนื้อหาซ้ำหลายครั้งในเรื่องเดิม ผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์นักเรียนในชั้นที่ทำการสอนเพื่อค้นหาสาเหตุของสรุปได้ว่าสาเหตุของปัญหาสืบเนื่องมาจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ไม่น่าสนใจ เนื้อหาที่จะส่งเสริมทักษะการคิดเชิงคำนวณของนักเรียนยังไม่มีประสิทธิภาพ สื่อสิ่งเร้าต่างๆที่มาในรูปของสังคมออนไลน์สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้มากกว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอน แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการสื่อสารภายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้โอกาสในการสื่อสารระหว่างครูครูผู้สอนและนักเรียนในสภาพการณ์ที่ต่างกัน ลดน้อยลงและเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนรู้
ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียน e-learning ในรายวิชาเทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 การนำเทคโนโลยี E-Learning มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สามารถสร้างความปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียนมากขึ้นในขณะเดียวกันนักเรียนก็มีเวลาค้นหาข้อมูลเพื่อการเรียนรู้มากขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้ง การใช้นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีจะทำให้เกิดความทันสมัยความน่าสนใจแก่นักเรียน การลดระยะเวลาในการทำงาน สร้างและเก็บข้อมูลการเรียนโดยครูสามารถตรวจข้อมูลการเรียนได้ตลอดเวลาพร้อมให้คำแนะนำแก่นักเรียนได้แม้จะไม่ได้อยู่ในโรงเรียน เพื่อเป็นการพัฒนานวัตกรรมให้มีความแปลกใหม่ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย จึงเกิดการประยุกต์ใช้รายวิชาออนไลน์บนเว็บไซต์ขึ้นช่วยให้เว็บไซต์ที่นำมาใช้งานมีความน่าสนใจ มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าเรียนในรายวิชาออนไลน์บนเว็บไซต์นั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของการนำนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีมาประกอบเป็นเทคนิคในการเรียนการสอน ก็เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ของกระทรวงศึกษาธิการ และยังสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของนักเรียนที่ว่า “ก้าวทันเทคโนโลยี” ด้วย